ขณะที่ลูกยังเล็กเวลาอาบน้ำ ผู้ใหญ่ก็มักจะบอกว่าให้ดัดขาลูกบ้างเพื่อไม่ให้ขาโก่ง ซึ่งคุณแม่บางท่านก็ได้ลองทำตามเพื่อจะให้ลูกมีขาที่สวยงามขึ้น แต่แท้จริงแล้วการดัดขาลูกตอนอาบน้ำจะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกขาโก่งได้จริงหรือ และโรคขาโก่งนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากคุณแม่กันแล้ว
โรคขาโก่งในเด็กเล็ก เกิดจากอะไร
ปัญหาการเกิดโรคขาโก่งในเด็กมีสาเหตุมาจากธรรมชาติ และความผิดธรรมชาติก็มีได้เหมือนกันเรามาดูรายละเอียดกันเลย
1.สาเหตุขาโก่งจากธรรมชาติ
ขาโก่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติอาจจะเกิดได้กับเด็กเกือบทุกคน โดยจะเริ่มสังเกตได้จากช่วงเริ่มตั้งไข่ซึ่งช่วงที่ลูกยังเดินได้ไม่ดี เพิ่งหัดเดินเตาะแตะขาก็จะโค้งงอเล็กน้อยเป็นลักษณะของกระดูกช่วงขาที่คดงอเนื่องจากการขดตัวอยู่ในท้องแม่มานานนั่นเอง เมื่อลูกโตขึ้นกระดูกขาของลูกจะค่อย ๆ ยื่นออกตามอายุ แล้วจะตรงได้เองตามปกติไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
2.ขาโก่งที่ผิดปกติจากการเป็นโรค
อาการขาโกงนี้จะเริ่มสังเกตได้เมื่อลูกอายุ 3 ขวบไปแล้ว เมื่อลูกเดินจะมีความผิดปกติของช่วงขาที่โก่งงอซึ่งเกิดจากภาวะกระดูกหรือข้อต่อผิดปกติ อาจจะเกิดจากโรคกระดูกเสื่อม โรคกระดูกอ่อน ซึ่งมีผลมาจากการที่ลูกได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอจนทำให้เกิดภาวะกระดูกเปราะบาง แตกหักง่ายจนนำไปสู่การโก่งงอของกระดูก และในเด็กบางรายที่ฝึกเดินเร็วเกินไปประกอบกับมีภาวะอ้วนก็มีความเสี่ยงต่อการโก่งงอของกระดูกมาก ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการเป็นโรคเบล้าท์ได้ ส่วนอีกโรคหนึ่งที่ควรระวังคือ การเกิดความผิดปกติของการสร้าง และสลายกระดูก ทำให้กระดูกขาดความแข็งแรง จึงทำให้เด็กที่เป็นโรคนี้จะเดินเหมือนเป็ดเดิน หากคุณแม่พบความผิดปกติของลูกแบบนี้ต้องรีบพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อรับคำปรึกษา และหาทางรักษาโดยเร็ว เพราะถ้าปล่อยไว้ให้เป็นมากๆ ก็จะรักษายากมากขึ้นนั้นเอง
การดัดขา ไม่ทำให้ขาโก่งจริงหรือ
ความเชื่อเรื่องการดัดขาให้ลูกตามแบบโบราณที่บอกว่าดัดขาลูกตอนอาบน้ำในช่วงแรกเกิดถึง 2 ขวบช่วยให้ลูกขาไม่โก่งนั้น จริง ๆ แล้วคุณหมอในปัจจุบันได้ให้ความเห็นว่า การดัดขาลูกไม่ได้มีส่วนที่ทำให้ลูกหายโก่ง เนื่องจากหากลูกมีปัญหาเกี่ยวกับเป็นโรคดังกล่าวมาแล้วนั้น การดัดขาก็ไม่ได้ช่วยให้ลูกหายได้ แถมบางครั้งหากทำไม่ถูกวิธีก็จะทำให้ลูกมีความผิดปกติไปมากกว่าเดิม หรืออาจจะทำให้เส้นเอ็นแพลง ขาเกิดการบิดผิดรูปหรือหักได้ ซึ่งจะเป็นผลเสียมากกว่า ดังนั้นควรปล่อยให้ลูกค่อย ๆ พัฒนาไปตามธรรมชาติ แล้วหายไปเองเมื่อเด็กโตขึ้นจะดีกว่า
วิธีการรักษาเมื่อลูกขาโก่ง
หากพบว่าลูกขาโก่งและอยู่ในวัย 3 ถึง 7 ปีก็สามารถที่จะให้ลูกสวมใส่อุปกรณ์ช่วยดามขา ซึ่งคุณหมอจะเป็นผู้แนะนำ
การรักษาโดยการใช้ยาและให้เด็กทานวิตามินเสริมประเภทวิตามินดี และแคลเซียมเสริมก็จะช่วยได้
หากการรักษาทั้ง 2 แบบยังไม่ได้ผล ก็ต้องรักษาโดยวิธีการผ่าตัด ซึ่งคุณหมอจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าควรจะผ่าตัดแบบไหนโดยมี 2 แบบคือ การผ่าตัดชักนำการเจริญเติบโตของกระดูก กับการผ่าตัดกระดูกเข่า ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร
การป้องกันไม่ให้ลูกขาโก่ง
การป้องกันไม่ให้ลูกขาโก่งที่พอจะทำได้ มีดังนี้
คุณพ่อคุณแม่หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายลูกอยู่เสมอ ตั้งแต่ลูกเริ่มตั้งไข่หัดเดินให้สังเกตดูว่าขาลูกเริ่มโก่งงอหรือไม่ และก็คอยเฝ้าดูพัฒนาการของลูกไปเรื่อย ๆ จนลูกอายุใกล้ 3 ขวบ หากยังมีความผิดปกติ ขายังโก่งก็ย่อมส่งผลต่อการเดินของลูก โดยคุณแม่ควรพาไปพบแพทย์ เพราะอย่าปล่อยไว้นานอาจจะทำให้แก้ไขได้ยากขึ้น
ลูกควรได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอไม่ว่าจากแสงแดดอ่อน ๆ หรือจากอาหารที่มีวิตามินดี เพื่อจะช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสเป็นไปได้ดี ซึ่งสำคัญต่อการเสริมสร้างกระดูกของลูก หากลูกขาดวิตามินดีก็อาจจะทำให้ลูกเป็นโรคกระดูกอ่อน ซึ่งเป็นการส่งผลโดยตรงต่อขาลูกที่ทำให้โก่งได้นั่นเอง โดยอาหารที่มีวิตามินดีก็จะเป็นจำพวกปลาที่มีน้ำมัน เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ชีส ไข่แดง เนื้อวัว รวมถึงอาหารประเภทเห็ด ก็ควรให้ลูกได้กินอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ลูกได้รับวิตามินดีตามธรรมชาติ ก็จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีกระดูกที่แข็งแรงได้
คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปตรวจสุขภาพเป็นประจำตามตารางของแพทย์ที่ได้ให้มาเป็นสมุดคู่มือของลูก เพื่อจะได้รู้ว่าพัฒนาการของลูกมีความผิดปกติในช่วงวัยใดบ้าง เมื่อดูบันทึกคู่มือสมุดบันทึกของลูกแล้วคุณหมอจะได้ทราบว่าลูกมีปัญหาเรื่องใดที่ควรแก้ไขจะได้แก้ไขได้ทัน
ปัญหาลูกขาโก่งของเด็กเล็กซึ่งเกิดขึ้นได้นอกจากจะมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่อาจจะทำให้ลูกห่างไกลจากการเป็นโรคนี้ได้ก็คือ ความเอาใจใส่ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดทุกช่วงวัย รวมถึงการดูแลเรื่องอาหารที่เหมาะสมกับวัยของลูกตลอดจนเข้าพบคุณหมอเพื่อขอคำปรึกษาเมื่อพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูก ก็จะช่วยให้ปัญหาโรคนี้ได้รับการแก้ไขได้อย่างทันเวลา และลดปัญหาโรคขาโก่งในเด็กเล็กได้มากเลยทีเดียว
コメント