top of page
ค้นหา

เด็กป่วยหน้าฝน RSV ไข้หวัดใหญ่ เฮอร์แปงไจน่า โรคหน้าฝนที่ทารกเด็กเล็กต้องระวัง

อัปเดตเมื่อ 27 ก.ย. 2564


เด็กป่วยหน้าฝน

พ่อแม่ต้องดูแลลูกให้ดี เด็กป่วยหน้าฝน แอดมิทโรงพยาบาลกันเพียบ ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ RSV เฮอร์แปงไจน่า และโรคร้ายหน้าฝนอื่น ๆ อีกเพียบ พ่อแม่ต้องคอยสังเกตอาการลูก บ้านไหนมีทารกหรือเด็กเล็กยิ่งต้องระวังโรคหน้าฝนให้มาก ๆ

โรคในเด็กช่วงหน้าฝน

อากาศเปลี่ยนไปทุกวัน เดี๋ยวแดดออก ร้อนจัด อีกสักพักก็ฝนตก ทำให้คนป่วยกันเยอะ ขนาดผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ยังป่วยได้เลย นับประสาอะไรกับเด็กเล็กหรือทารก


เฮอร์แปงไจน่าเกิดจากอะไร?

โรคเฮอร์แปงไจน่าเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในกลุ่ม เอนเตอโรไวรัส (Enterovirus) หลายชนิด ได้แก่ คอกแซคกีไวรัส และเอคโคไวรัส ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ย่อย ติดต่อได้จากการคลุกคลีกับผู้ป่วย แล้วสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ ของผู้ป่วย




อาการของโรคเฮอร์แปงไจน่าเป็นอย่างไร?

ซึ่งโรคเฮอร์แปงไจน่าคล้ายกับโรคมือเท้าปากคือ

  • ผู้ป่วยจะมีแผลในปากที่บริเวณเพดานปาก ลิ้นไก่ ด้านหลังของคอหอย

  • แต่จะไม่มีมีผื่นสีแดง หรือตุ่มน้ำ ที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า

  • อาจมีไข้สูงกว่าโรคมือเท้าปาก

  • อาการไข้จะลดลงภายใน 2-4 วัน

  • แผลในปากอาจคงอยู่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์

รักษาโรคเฮอร์แปงไจน่าทำได้อย่างไร?

เนื่องจากโรคเฮอร์แปงไจน่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาได้จำเพาะเจาะจง

การดูแลผู้ป่วยจะใช้การรักษาตามอาการ ได้แก่

  • การเช็ดตัวลดไข้ ทานยาแก้ปวดลดไข้ เพื่อบรรเทาอาการไข้และการเจ็บแผลในปาก

  • หยดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปากก่อนทานอาหาร

  • ทานอาหารอ่อน ไม่ควรทานอาหารร้อนจัดเพราะอาจกระตุ้นให้เจ็บแผลในปากได้

  • อาจดื่มนมเย็น หรือไอศครีมได้ เพราะเนื่องจากความเย็นทำให้ชา ไม่เจ็บเวลากลืนและควรดื่มน้ำมากๆนะคะ

หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง คือ ไข้สูงลอย กินอาหารไม่ได้ มีอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาโหล ปัสสาวะออกน้อยและมีสีเข้มผิดปกติ ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อรับการตรวจรักษาแยกจากโรคอื่นๆ เช่น โรคมือเท้าปาก หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอ

RSV คืออะไร อาร์เอสวีติดต่ออย่างไร

ช่วงนี้เป็นฤดูฝน ประเทศไทยมักพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) โดยเชื้อไวรัสนี้ติดต่อได้จาก

  • การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ

  • เชื้อไวรัสอาร์เอสวีสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก




อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี

  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน

  • ผู้ติดเชื้อจะเริ่มตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ

  • จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจเร็ว หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบ รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง

การรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ

สำหรับโรคนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังเช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมักพบเชื้อไวรัสอาร์เอสวีได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับฤดูกาลระบาดของไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้หลายชั่วโมงโดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ และแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอหรือการจาม


ไข้หวัดใหญ่ การติดต่อของเชื้อ

รศ.พญ.สิริอร วัชรานานันท์ แพทย์อายุรกรรมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวถึงโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ว่า เชื้อไวรัสที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย สามารถแพร่ติดต่อไปยังคนอื่น ๆ ได้ง่าย เช่น การไอหรือจาม หากอยู่ใกล้ผู้ป่วย บางรายได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก ในผู้ใหญ่อาจแพร่เชื้อได้นานประมาณ 3-5 วัน นับจากวันที่เริ่มป่วย ในเด็กเล็กสามารถแพร่ได้นานกว่าผู้ใหญ่ อาจพบได้ 7-10 วัน และอาจนานขึ้นไปอีก ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง

ความน่ากลัวของไข้หวัดใหญ่อย่างหนึ่งคือ การเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค ได้แก่ โรคปอดอักเสบ และโรคสมองอักเสบ

วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) วิธีการป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถทำได้เพียงดูแลตัวเองด้วย

  1. การปิดปากปิดจมูกเมื่อป่วย ไอ จามโดยใช้กระดาษทิชชู่ สามหน้ากากอนามัย หรือไอใส่ต้นแขนตนเอง

  2. ล้างมือบ่อยๆก่อนรับประทานอาหาร หลังไอจาม สั่งน้ำมูก จับต้องสิ่งของหรือพื้นผิวที่มีคนสัมผัส

  3. เลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่มีอาการป่วย มีไข้ ไอ จาม เลี่ยงสถานที่ที่คนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก (โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาด)

  4. หยุดงาน หยุดเรียน หยุดกิจกรรมกับผู้อื่นเมื่อป่วย เพื่อให้หายป่วยเร็วและไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น

  5. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพื่อสร้างภูมิต้านทานและลดโอกาสเสี่ยง ซึ่งการได้รับวัคซีนเป็นหนึ่งวิธีการเพิ่มภูมิคุ้มกัน เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี


ช่วงหน้าฝนแบบนี้ เด็กป่วยกันง่าย พ่อแม่ต้องระวังลูกป่วยหน้าฝน โดยสังเกตอาการของลูกให้ดี หากลูกมีอาการผิดปกติ มีไข้ ไข้ไม่ลด ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ดู 222 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page