top of page
ค้นหา

สอนลูกรู้แพ้ รู้ชนะ รู้ทันความผิดหวัง สร้างทักษะชีวิตให้ลูกสตรอง


แพ้ชนะเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอ แม้ว่าความพ่ายแพ้และความผิดหวังจะไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่ แต่บางครั้งความพ่ายแพ้ก็ก่อให้เกิดความมุมานะพยายาม และการยอมรับความแพ้พ่ายก็ถือเป็นชัยชนะอย่างหนึ่ง เป็นทักษะชีวิตที่พ่อแม่ต้องสอนลูกให้รู้จักยอมรับตั้งแต่เล็กๆ 

       แม้จะสอนให้ลูกรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ทว่าในทางปฏิบัตินั้นก็ทำได้ยากเช่นกัน นอกจากเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นแล้ว พ่อแม่ก็ต้องปลูกฝังทักษะนี้ให้ลูกด้วย 

5 วิธีสอนลูกให้รู้จักความพ่ายแพ้ 

1. เล่นเกมกับลูก ไม่จำเป็นต้องแกล้งแพ้ให้ลูกเสมอไป แต่ควรผลัดให้ลูกได้ทั้งเป็นผู้แพ้และผู้ชนะ ระวังตัวไม่ใช้วิธีกดดันลูกให้ลูกมุ่งมั่นเอาชนะอย่างเดียว เพราะจะกลายเป็นความคาดหวังของพ่อแม่เองทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่แพ้ไม่ได้ 

2. ไม่ตำหนิเมื่อลูกแพ้ ลูกแพ้ก็เสียใจจะแย่อยู่แล้ว ยิ่งมาเจอคำพูดเชิงลบยิ่งเสียใจกันไปใหญ่ เพราะฉะนั้นเปลี่ยนคำพูดลบๆ ให้เป็นคำพูดเชิงบวกกันค่ะ เช่น ไม่เป็นไรนะ เรามาพยายามกันใหม่ ครั้งหน้าเราจะพยายามด้วยกันนะ ถึงจะแพ้ก็ไม่เป็นไรลูกยังไงวันนี้ก็สนุกมาก  

3. ให้ลูกได้พูดระบายความในใจ เพราะเด็กอนุบาลยังขาดทักษะการควบคุมอารมณ์ตนเอง บางคนแพ้แล้วอาจมีการงอแง ร้องไห้ เนื่องจากควบคุมความเสียใจไม่ได้ แต่ถ้าลองปล่อยโอกาสให้ลูกได้พูด เช่น จับมือมือลูกสองข้าง สบตา แล้วคุยกับลูก หนูไม่สบายใจใช่มั้ย ไม่ชอบที่แพ้ใช่มั้ย หนูร้องไห้ได้นะ แต่ร้องแล้วจบนะ จบแล้วเราค่อยไปเริ่มต้นทำกันใหม่ แม่จะอยู่กับหนูเอง โอเคมั้ย 



4. ใช้นิทานเป็นตัวอย่างในการสอนลูก นิทานเป็นตัวอย่างที่ดีในการให้ลูกเห็นภาพการสอนเรื่องนามธรรมให้เป็นรูปธรรม ทั้งยังสร้างประสบการณ์ให้ลูกนำไปใช้เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง พ่อแม่อาจจะเลือกนิทานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแข่งขันและความพ่ายแพ้ไปเล่าให้ลูกฟังก่อนนอน หรือจะแต่งนิทานขึ้นเองใช้ชื่อลูกแทนตัวละครในนิทานก็ดีไม่น้อย 

5. เปลี่ยนความพ่ายแพ้ให้เป็นชัยชนะ เพราะความพ่ายแพ้เป็นภูมิคุ้มกันที่ดีของลูกเมื่อลูกเผชิญกับความพ่ายแพ้ แน่นอนว่าลูกย่อมรู้สึกผิดหวัง เสียใจ แต่สิ่งที่พ่อแม่ควรทำอย่างแรกคือการปลอบลูก ให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยังอยู่เคียงข้าง หากลูกรู้สึกโกรธ โมโห ให้รีบกอดลูกทันที เมื่อลูกอารมณ์ดีแล้วค่อยคุยกับลูกว่าทำผิดพลาดตรงไหน และเราจะนำข้อผิดพลาดนั้นมาแก้ไขอย่างไร เช่น ซ้อมบ่อยๆ ให้เกิดทักษะและความเคยชิน เป็นต้น



สิ่งสำคัญที่สุด นอกจากสอนให้ลูกยอมรับความพ่ายแพ้แล้ว พ่อแม่เองก็ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ของลูกให้ได้เช่นกัน 


ดู 466 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page