🏠 เนื่องจาก ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตปัญหาที่โรคเชื้อไวรัส #Covid-19 กำลังระบาดอยู่ในตอนนี้ทำให้หลายๆครอบครัวต้องระวังไม่ให้ติดโรคนี้ . แต่รู้หรือไม่ว่า…นอกจากจะต้องรับมือกับโรคCovid-19 แล้วยังต้องระวังโรคที่มากับฤดูร้อนอีกด้วยโดยเฉพาะเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กเล็กภูมิคุ้มกันยังน้อยอยู่อาจจะทำให้ลูกน้อยเกิดอาการป่วยได้ เพราะว่าอากาศร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ไม่ว่าจะเป็นโรคที่มาพร้อมกับความร้อนโดยตรง หรือโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน .
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมรับมือกับสภาพอากาศ และโรคภัยที่มากับฤดูกาลที่เปลี่ยนไปด้วย หากปล่อยให้ลูกน้อยเผชิญกับโรคภัยเหล่านั้น อาจก่อให้เกิดอันตรายจนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจได้ ซึ่งเรามาสำรวจกันเลยดีกว่า ว่ามีโรคอะไรบ้างที่มากับฤดูร้อน และมีวิธีป้องกันอย่างไร มาดูกันเลยค่ะ~
1.โรคจากระบบทางเดินอาหาร
เนื่องจากอากาศร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ส่งผลให้อาหารเกิดการเสียและบูดเร็วขึ้น ซึ่งถ้าทานเข้าไปอาจทำให้ป่วยเป็นโรคท้องร่วง หรืออาหารเป็นพิษได้ อาการที่พบคือ ท้องเสียและถ่ายเป็นน้ำ อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย หากอาการรุนแรง อาจเกิดการช็อคหมดสติได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกทานอาหารที่ปรุงสุกและหมั่นล้างมือ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารนะคะ
2.โรคผดร้อน
เป็นโรคที่เกิดจากรูขุมขนอุดตัน และไม่สามารถขับออกมาเป็นเหงื่อได้ จนกลายเป็นตุ่มแดงตรงบริเวณผิวหนัง อาจมีอาการคันและไม่สบายตัวร่วมด้วย ซึ่งผื่นสามารถหายได้เอง ภายใน 1-2 วัน แต่ถ้าหลายวันไม่ผื่นไม่ยุบ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้โดย ให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถระบายเหงื่อได้ดี และไม่ทาโลชั่นหนาจนเกินไป
3.เลือดกำเดาไหล
มักจะพบบ่อยในกลุ่มเด็กที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ทำให้จมูกไวต่อการการเปลี่ยนแปลงของอากาศ และเป็นปัญหาสำหรับการปรับตัวของเยื่อจมูก ซึ่งทำให้เกิดอาการจาม คัดจมูก แล้วชอบขยี้จมูก จนทำให้เส้นเลือดในโพรงจมูกแตก จึงเป็นเหตุให้เลือดกำเดาออกนั่นเอง ดังนั้นควรรับมือด้วยการให้เด็กนั่งตัวเอียงไปข้างหน้า และให้ศีรษะก้มลงเล็กน้อย เพื่อให้เลือดไหลออกทางจมูกแทนที่จะไหลลงคอ ซึ่งอาจทำให้เด็กอาเจียนออกมาเป็นเลือดจากที่กลืนเข้าไป และใช้มือบีบจมูกบริเวณปีกจมูกเบา ๆ ในข้างที่มีเลือดกำเดาไหล อย่างน้อย 10 นาที และหากเลือดยังไม่หยุดไหลนานเกิน 30 นาที ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันทีนะคะ
4.โรคจากระบบทางเดินหายใจ
เนื่องจากอากาศมีการเปลี่ยนแปลงไปมา เช่น ภายในบ้านเย็นเพราะเปิดแอร์ แต่เมื่อออกมานอกบ้านพบกับอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ลูกน้อยปรับตัวสภาพอากาศไม่ทัน และป่วยเป็นโรคทางระบบหายใจได้ง่ายขึ้น เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่เป็นต้น หากลูกน้อยของคุณมีอาการ ปวดหัว ตัวร้อน ไอ จาม อ่อนเพลีย คัดจมูก หรือ น้ำมูกไหล แปลว่าลูกของคุณกำลังป่วยอยู่แน่นอน ดังนั้นควรดูแลด้วยการดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ ถ้ามีไข้ร่วมด้วย ให้ทานยาลดไข้และเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อระบายความร้อนออก หากถ้าอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบหมอเพื่อดูอาการนะคะ
5.โรคพิษสุนัขบ้า
เป็นอีกหนึ่งโรคที่น่ากลัวในช่วงหน้าร้อน ซึ่งอาจทำให้สัตว์เลี้ยงหงุดหงิดได้ง่าย จึงมีโอกาสโดนกัดได้บ่อย ซึ่งเชื้อพิษสุนัขบ้าสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานขึ้น เนื่องจากในช่วงหน้าร้อนเชื้อโรคจะเจริญเติบโตได้ดี และมีโอกาสแพร่เชื้อได้มากขึ้น นอกจากนี้โรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียาที่รักษาให้ขาดได้โดยตรง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรระวังไม่ให้ลูกไปอยู่สถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการโดนสุนัขกัด เช่น ไม่ให้เดิน / เล่นตามตรอกซอกที่มีสุนัข หรือสัตว์แปลกถิ่น หากถูกกัดควรรีบทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสบู่ และรีบพามาพบแพทย์ เพื่อจะได้รีบฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าได้ทันท่วงที
6.โรคฮีตสโตรกหรือโรคลมแดด
เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปเช่น ตากแดดเป็นเวลานาน จนทำให้สมองทำงานผิดปกติในด้านของการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง เพราะมีอุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40 °C สังเกตอาการได้จาก อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก หน้าแดง ปวดศีรษะ รู้สึกกระหายน้ำมาก ๆ อ่อนเพลีย และชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินต้องรีบรักษา เพราะอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ลูกออกไปวิ่งเล่นกลางแดด เป็นเวลานาน และให้สวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อได้ดี แต่ถ้าหากลูกเกิดมีอาการที่เหมือนจะเป็นลมแดด ควรพาลูกเข้าที่ร่มและนอนราบยกเท้าสูงทั้งสองข้างเพื่อให้เลือดไหลเวียน รวมถึงให้ดื่มน้ำและเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น จากนั้นรีบพาไปโรงพยาบาลทันที
.
ป้องกันไว้ก่อนเพื่อสุขภาพที่ดีในช่วงฤดูร้อน
– หมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
– เลือกทานอาหารและน้ำที่ถูกสุขลักษณะ
– ป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิต้านทาน โดยพิจารณาตามความจำเป็นและความเหมาะสม
– สังเกตและดูแลสุขภาพของลูกและคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด เพื่อจะรักษาได้ทัน
Comments